ความรู้สำหรับประชาชนกรณีพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาผู้ต้องหา|ยักยอกทรัพย์,ฉ้อโกง,รับของโจร,พยายามฆ่า,ทนายคลายทุกข์,ลักทรัพย์,ทนาย

ความรู้สำหรับประชาชนกรณีพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาผู้ต้องหา

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ความรู้สำหรับประชาชนกรณีพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาผู้ต้องหา

  • Defalut Image

พนักงานสอบสวนจะกล่าวหาผู้ใดลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานตามสมควรไม่ได้

บทความวันที่ 28 มิ.ย. 2560, 10:13

มีผู้อ่านทั้งหมด 7972 ครั้ง


ความรู้สำหรับประชาชนกรณีพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาผู้ต้องหา

    พนักงานสอบสวนจะกล่าวหาผู้ใดลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานตามสมควรไม่ได้และการสอบสวนที่ไม่มีการแจ้งข้อหามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เทียบเคียงฎีกาที่ 3130/2556 
    -  การสอบสวนพยานหลายคนพร้อมกันและมีบุคคลอื่นนั่งฟังการสอบสวนอยู่ด้วยการสอบสวนก็ไม่เสียไปเทียบเคียงฎีกาที่ 7475/2553 และฎีกาที่ 9378/2539 
    -  การจับหรือการตรวจค้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ทำให้การสอบสวนเสียไปเพราะเป็นคนละขั้นตอนกันเทียบเคียงฎีกาที่ 1493 / 2550 และฎีกาที่ 6538/2550 
    -  การสอบสวนกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องสอบสวนมากน้อยเพียงใดอ้างอิงฎีกาที่ 4037/2542 
    -  พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องสอบพยานโจทก์ทุกปาก อ้างอิงฎีกาที่ 1907/ 2494 ฎีกาที่ 788/2494 ฎีกาที่ 6397/2541
    -  การที่จำเลยขอให้พนักงานสอบสวนตรวจหาสารพันธุกรรมแต่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการให้ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฏหมายอ้างอิงฎีกาที่ 869/2557
    -  การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในขณะที่ไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนก็ถือว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบอ้างอิงฎีกาที่ 3096/2536
    นอกจากนี้การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบก่อน  แจ้งข้อหาให้ทราบตามมาตรา 134 วรรคหนึ่งจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 อ้างอิงธงคำตอบข้อสอบเนติบัณฑิตสมัยที่ 58 ปีพ.ศ. 2548 ข้อสอง นอกจากนี้ก่อนจะแจ้งข้อหามาตรา 134 วรรคสองบัญญัติว่า "จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น"
    สรุปพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาได้ต้องไปหาหลักฐานก่อนนะครับแล้วหลักฐานก็ต้องมีพอสมควรนะครับ  เป็นกำลังใจให้ตำรวจทหารที่ทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายจับคนร้ายที่ระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฏครับ  "แต่อย่าลืมนะครับก่อนจะแจ้งข้อหาใครต้องมีหลักฐานตามสมควรก่อนนะครับ" คนคนร้ายตัวจริงก็จะลดลอยนวลสังคมก็ไม่ปลอดภัยเพราะคนร้ายยังคงใช้ชีวิตได้อยู่ตามปกติ เพราะถ้าแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วกลายเป็นว่าผู้กระทำความผิดไม่ใช่ตัวจริง ก็อาจจะถูกยกฟ้องในชั้นศาลเหมือนกับคดีความมั่นคงหลายคดีเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วที่ปรากฏเป็นข่าว
    ท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหา  สอบถามกับทนายคลายทุกข์ได้นะครับ 081-6161425 ครับ 

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556
    คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว
    จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก

2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7475/2553
    ร้อยตำรวจเอก ส.เป็นข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจของตนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แม้ระหว่างสอบสวนจะมีพนักงานสอบสวนซึ่งไม่มีอำนาจสอบสวนร่วมนั่งฟังอยู่ด้วยก็ไม่ทำให้การสอบสวนนั้นเสียไป เมื่อพันตำรวจโท น. ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ พันตำรวจโท น. ย่อมมีอำนาจสอบสวนก่อนร้อยตำรวจเอก ส. โอนสำนวนการสอบสวน และหลังจากนั้นร้อยตำรวจเอก ศ. ยังคงมีอำนาจสอบสวนเพื่อช่วยเหลือพันตำรวจโท น. ได้ ดังนั้น การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9378/2539
    ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาการสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมายหรือผิดหน้าที่อย่างใดทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นหรือพยานปากอื่นเข้าฟังการสอบสวนดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนปากคำพยานโจทก์ทั้งห้าปากพร้อมกันและพันตำรวจโทอ.พยานโจทก์ปากหนึ่งตรวจดูบันทึกคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวนทุกปาก พร้อมทั้งนั่งฟังการสอบสวนด้วยจึงหาทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288กำหนดโทษไว้เป็น3ประการคือโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตและจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีโดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยคือโทษตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีฉะนั้นโทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้20ปีดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้คือ13ปี4เดือนการที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาฐานพยายามฆ่า15ปีและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สมควรแก้ไขโทษเสียให้เป็นการถูกต้อง

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2542
    เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจำเลยว่า ลักทรัพย์ รับของโจร และฉ้อโกง แล้วพนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การ จ. ผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารผู้เสียหายกรณีที่จำเลยใช้สมุดคู่ฝากถอน เงินสดจากธนาคารผู้เสียหายไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ไว้ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับว่า ในวันดังกล่าวจำเลยได้ใช้ สมุดคู่ฝากถอนเงินสดจำนวนดังกล่าวไปจากผู้เสียหายจริง ดังนี้ เห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนในข้อหาความผิด ฐานฉ้อโกงด้วยแล้ว แม้ว่าในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานสอบสวนจะไม่ได้สอบปากคำว่าจำเลยได้ไปฉ้อโกง หรือหลอกลวงผู้ใดไว้ก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะ ในการสอบสวนไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายว่าพนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนมากน้อยเพียงใด เมื่อมีการสอบสวนใน ความผิดฐานฉ้อโกงโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการจึงมี อำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกง โดยวินิจฉัยว่าฟังไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานฉ้อโกง โดยชอบ โดยศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิด ฐานฉ้อโกงหรือไม่ ดังนี้เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลย เป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความ ศาลฎีกา ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว

5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1907/2494 
    ปลัดอำเภอรับมอบเงินในนามคณะกรมการอำเภอ จากจังหวัดแล้วยักยอกเสียนั้น ย่อมถือว่าแผ่นดินเป็นผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องมีการร้องทุกข์ อัยการก็ฟ้องได้
ความผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 นั้น เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ อัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือนตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 แต่ให้ยกคำขอที่ขอให้คืนราคาทรัพย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะให้คืนราคาทรัพย์ ดังนี้ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
การที่พยานโจทก์บางคนยังไม่ได้ให้การชั้นสอบสวนแต่ได้มีการสอบสวนจำเลยและพยานอื่นแล้วนั้น เรียกไม่ได้ ว่ามิได้ มีการสอบสวนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2494 
    ได้มีการสอบสวนความผิดในคดีอาญาเรื่องหนึ่งจนถึงแก่ได้มีการฟ้องร้องผู้กระทำผิดต่อศาลศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วภายหลังจับผู้ที่สมคบกระทำความผิดนั้นได้ พนักงานสอบสวนจึงได้สอบสวนตัวผู้สมคบนั้นกับผู้จับประกอบเพียงเท่านั้นส่วนพยานอื่นถือเอาคำพยานในสำนวนการสอบสวนเดิมมิได้เรียกพยานเหล่านั้นมาสอบใหม่อีกดังนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าคดีสำหรับผู้สมคบนี้ได้มีการสอบสวนชอบแล้ว

7.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6397/2541 
    ความผิดที่จำเลยกระทำเป็นความผิดซึ่งหน้า แม้จำเลย จะได้กระทำในที่รโหฐาน เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมี อำนาจสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 การที่เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จัดหาธนบัตรให้แก่สายลับ ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ถือเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจ สืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดปฏิบัติไปตามอำนาจ และหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ การที่พนักงานสอบสวนปกปิดชื่อและตัวสายลับไม่ได้ สอบปากคำของสายลับไว้เป็นหลักฐาน ก็เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสืบหาพยานหลักฐานมาประกอบดำเนินคดี และเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนบุคคลใดเป็นพยานได้ การที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสอบปากคำสายลับไว้เป็นหลักฐานไม่ถือว่าการสอบสวนไม่ชอบ คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นไปโดยสมัครใจตามความสัตย์จริงจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้

8.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3096/2536 
    เจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งที่กฎหมายบัญญัติว่ามีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนย่อมมีฐานะเป็น พนักงานสอบสวนตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่งดังกล่าว ส่วนการที่จะต้องเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนในวันเวลาใดเป็นเพียงระเบียบหรือข้อบังคับภายในของหน่วยราชการซึ่งไม่มีผลทำให้เจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวน ในขณะที่ไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนไม่มีฐานะเป็นพนักงานสอบสวน ดังนั้น การที่ร้อยตำรวจเอก ป. รับแจ้งความร้องทุกข์จากโจทก์ร่วมในขณะที่ยังไม่ได้เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวน ก็ต้องถือว่าร้อยตำรวจเอก ป. มีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนในขณะที่รับแจ้งความร้องทุกข์ การสอบสวนของร้อยตำรวจเอก ป. ย่อมชอบด้วยกฎหมายพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดี
 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก